Image

สำนักวิทยบริการฯ เชิญชวน นักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ ทุกท่าน ร่วมกิจกรรมตอบคำถามชิงรางวัล เนื่องใน "วันที่ 2 กุมภาพันธ์ วันนักประดิษฐ์ "

>> คลิ๊ก ร่วมตอบคำถามชิงรางวัล <<


        เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น วันนักประดิษฐ์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงประดิษฐ์ "เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอยน้ำ" หรือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" และได้รับสิทธิบัตรทางปัญญาเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ซึ่งนอกจากจะเป็นการเทิดพระเกียรติแล้ว ยังเป็นวันที่ระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรถวายแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงคิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ สามารถแก้ปัญหาและรักษาสิ่งแวดล้อม
        สำหรับงานวันนักประดิษฐ์ได้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ณ ศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ปัจจุบันคือศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์)


ความสำคัญ
        เพื่อระลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงประดิษฐ์ กังหันน้ำชัยพัฒนา และได้รับสิทธิบัตรทางปัญญาเป็นครั้งแรก นอกจากนี้กังหันน้ำชัยพัฒนายังได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์เด่นจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

ประวัติ
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะมีสภาพเสื่อมลงเรื่อย ๆ รวมถึงน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์เครื่องกลสำหรับบำบัดน้ำเสียขึ้นหลายชิ้น เช่น ชัยพัฒนาซุปเปอร์ฟองแอร์ เครื่องตีน้ำชัยพัฒนา และชัยพัฒนาไฮโดรเป็นต้น แต่ชิ้นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด อีกทั้งเป็นชิ้นแรกที่ทรงได้รับสิทธิบัตรทางปัญญาได้แก่ กังหันน้ำชัยพัฒนา กังหันน้ำชัยพัฒนาเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำแบบหมุนช้า เป็นแบบทุ่นลอย มีใบพัดขับเคลื่อนน้ำหมุนรอบเป็นวงกลม สำหรับขับเคลื่อนน้ำ และวิดน้ำขึ้นไปสาดกระจายเป็นฝอยเพื่อให้น้ำได้สัมผัสกับอากาศได้อย่างทั่วถึง เป็นผลให้ออกซิเจนในอากาศสามารถละลายผสมกับน้ำได้เร็วและในช่วงที่น้ำกระจายขึ้นมานั้นจะทำให้เกิดฟองอากาศจมลงไป เป็นการถ่ายเทอากาศ ได้อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในด้านเติมอากาศลงในน้ำและทำให้เกิดการหมุนเวียนมากขึ้น จากการทดสอบพบว่ากังหันน้ำชัยพัฒนาสามารถถ่ายเทออกซิเจนได้ถึง 0.9 กิโลกรัมของออกซิเจนต่อแรงม้าต่อชั่วโมง
        ด้วยพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางคณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันนักประดิษฐ์ นอกจากนี้การที่ทางรัฐบาลได้จัดงานวันนักประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อต้องการให้เกิดความร่วมมือกันในวงการนักวิทยาศาสตร์นักวิจัย และนักประดิษฐ์มากขึ้น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนโดยทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประดิษฐ์สิ่งของ เพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การเกษตร การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และการพัฒนาชาติในด้านต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น และทรงห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องเผชิญในเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 ได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ด้วยการใช้เครื่องกลเติมอากาศ โดยพระราชทานรูปแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เรียบง่าย แต่มีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" และนำมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำตามสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในความเดือดร้อนทุกข์ยากที่เกิดขึ้นนี้ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสภาพน้ำเสียในพื้นที่หลายแห่งหลายครั้ง ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด พร้อมทั้งพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขน้ำเน่าเสีย ในระยะแรกระหว่างปี พ.ศ.2527 - 2530 ทรงแนะนำให้ใช้น้ำที่มีคุณภาพดีช่วยบรรเทาน้ำเสียและวิธีกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวาและพืชน้ำต่างๆ ซึ่งก็สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ผลในระดับหนึ่ง
        ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา สภาพความเน่าเสียของน้ำบริเวณต่างๆ มีอัตราแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น การใช้วิธีธรรมชาติไม่อาจบรรเทาความเน่าเสียของน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงขอพระราชทานพระราชดำริให้ประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศแบบประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถผลิตได้เองในประเทศ ซึ่งมีรูปแบบ "ไทยทำไทยใช้"โดยทรงได้แนวทางจาก "หลุก" ซึ่งเป็นอุปกรณ์วิดน้ำเข้านาอันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นจุดคิดค้นเบื้องต้น และทรงมุ่งหวังที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการบรรเทาน้ำเน่าเสียอีกทางหนึ่งด้วย
        การนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณ เพื่อการศึกษาและวิจัยสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ โดยดำเนินการจัดสร้างเครื่องมือบำบัดน้ำเสียร่วมกับกรมชลประทาน ซึ่งได้มีการผลิตเครื่องกลเติมอากาศขึ้นในเวลาต่อมา และรู้จักกันแพร่หลายทั่วไประเทศในปัจจุบันคือ "กังหันน้ำชัยพัฒนา"

โพสโดย Administator 31 ม.ค. 2567
ข่าวสารอื่นๆ

แสดงทั้งหมด

ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

38 ม.8 ต.นาวุ้ง อ.เมือง จ.เพชรบุรี 76000
เบอร์โทร : 032-708609
อีเมล : saraban_arit@pbru.ac.th

Privacy Policy