รายละเอียด

2024-03-31 20:04:41 | 550

สำนักวิทยบริการฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ขอเชิญชวน นักเรียนนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ร่วมกิจกรรม ตอบคำถามชิงรางวัล "ขวดน้ำรักษ์โลก" เนื่องใน "วันที่ 22 เมษายน วันคุ้มครองโลก (Earth Day)"

ร่วมกิจกรรมตอบคำถาม >> คลิ๊ก <<

        วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี คือ วันที่กำหนดขึ้นเพื่อระลึกถึงจุดกำเนิดของการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ในปี ค.ศ. 1970 เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนดำเนินการเพื่ออนุรักษ์ ปรับปรุง และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม วันคุ้มครองโลกคืออะไร วันคุ้มครองโลก (ภาษาอังกฤษ: Earth Day) คือ วันที่กำหนดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นให้ผู้คนดำเนินการต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์ ปรับปรุง และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของโลก วันคุ้มครองโลก (Earth Day) ตรงกับวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) ซึ่งถือว่าเป็นจุดกำเนิดของการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย รวมทั้งช่วยให้ผู้คนหันมาสนใจปัญหาทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

        เหตุผลของการจัดวันคุ้มครองโลก การกำหนดวันคุ้มครองโลกหรือ Earth Day นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก และเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนและหน่วยงานดำเนินการต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์ ปรับปรุง และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ และทำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งช่วยสร้างสำนึกในการรักษาโลกไว้ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศชาติ หัวใจสำคัญของการก่อตั้งวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ก็คือ การระดมพลังประชาสังคม (Civil Society Mobilisation) เพื่อช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับรากหญ้า ไปจนถึงการสร้างแรงกดดันเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายในประเทศและระดับโลก

        ประวัติวันคุ้มครองโลก (Earth Day) 22 เมษายน วันคุ้มครองโลก (Earth Day) มีต้นกำเนิดในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ไม่นานก็กลายเป็นวันสำคัญที่ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ และวันนี้ก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ปัจจุบันผู้คนกว่าหนึ่งพันล้านคนจากมากกว่า 190 ประเทศได้เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันคุ้มครองโลก

        ในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) รัฐแคลิฟอร์เนียประสบภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ การรั่วไหลของน้ำมันในซานตาบาร์บารา ทำให้น้ำมัน 3 ล้านแกลลอนรั่วไหลลงสู่ทะเลตามแนวชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย คราบน้ำมันกระจายไปไกลถึง 35 ไมล์ เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้ง Earth Day ได้พบเห็นและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ จึงได้ตัดสินใจผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในขณะนั้น เนลสันยังถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เขาจึงขอความช่วยเหลือจากนักเคลื่อนไหวที่ชื่อเดนิส เฮยส์ (Dennis Hayes) เพื่อจัดการประท้วงทั่วประเทศ และเลือกวันที่ 22 เมษายน เป็นวันจัดงานโรงเรียนและมหาวิทยาลัยกว่า 2,000 แห่งทั่วสหรัฐฯ เข้าร่วมการประท้วงแบบ "sit-in" ซึ่งหมายถึงการประท้วงอยู่กับที่โดยปฏิเสธที่จะออกจากสถานที่ และเดินขบวนอย่างสันติ ผู้ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวและนักศึกษา การประท้วงที่จัดขึ้นได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก จนทำให้วุฒิสมาชิกเนลสันตัดสินใจจัดตั้งทีมและดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมต่อไป ในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) วันคุ้มครองโลกได้มีการจัดงานทั่วโลก โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 200 ล้านคนจาก 141 ประเทศ ส่งผลให้ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจในเวทีโลก วันคุ้มครองโลกหรือ Earth Day ในปี 1990 กระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจการรีไซเคิล และช่วยปูทางไปสู่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development - UNCED) หรือ Earth Summit ในปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) ณ กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ความสำเร็จของวันคุ้มครองโลกยังส่งผลให้วุฒิสมาชิกเนลสันได้รับรางวัล Presidential Medal of Freedom จากประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นเกียรติยศสูงสุดสำหรับประชาชนทั่วไป ในฐานะผู้ก่อตั้งวันคุ้มครองโลก (Earth Day)

        วันคุ้มครองโลกในประเทศไทย ประเทศไทยได้มีจัดกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยเริ่มจากการรณรงค์วันคุ้มครองโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา และในปี พ.ศ. 2533 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย อันเป็นผลจากการเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักวิชาการ และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คณะอาจารย์และนักศึกษาจาก 16 สถาบันได้ร่วมกันจัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้น จากนั้นเป็นต้นมาจึงได้มีการรณรงค์อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้คนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบอันร้ายแรงจากการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา

        ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลกได้จัดกิจกรรมมากมายเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวระดับโลกในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ตัวอย่างกิจกรรมวันคุ้มครองโลกมีดังต่อไปนี้
         1.การร่วมชุมนุมและเดินขบวนเพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเน้นย้ำเป้าหมายสำคัญในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
         2.จัดการประชุมและสัมมนา เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของวันคุ้มครองโลก และเผยแพร่ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
         3.จัดคอนเสิร์ต การแสดง งานบันเทิงอื่น ๆ และนิทรรศการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
         4.จัดงานเพื่อระดมทุนให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
         5.ร่วมกันรักษาความสะอาดและทำความสะอาดบริเวณบ้าน ชุมชน สถานที่ทางธรรมชาติและสถานที่สาธารณะต่าง ๆ

         สิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโลก The Global Goals ได้ยกตัวอย่างสิ่งที่เราสามารถปฏิบัติได้เพื่อช่วยรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เช่น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตและการจัดจำหน่ายเนื้อสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก ลดการใช้พลาสติก ด้วยการหันมาใช้ขวดและถุงที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซื้อสินค้า Fairtrad (แฟร์เทรด) เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาระบบการค้าที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน รีไซเคิลกระดาษ และหันมาใช้บริการแบบ Paperless (ไม่ใช้กระดาษ) เพื่อลดเอกสาร เช่น รับใบเสร็จต่าง ๆ ผ่านอีเมลแทนที่จะให้ร้านค้าพิมพ์ใส่กระดาษออกมา สนับสนุนองค์กรหรือหน่วยงานที่มีภารกิจในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยอาจร่วมกิจกรรมหรือบริจาคเงิน

ร่วมกิจกรรมตอบคำถาม >> คลิ๊ก <<

    

-----------------------------------------------
📣"เรียนเชิญติดตามข่าวสารจากสำนักฯ ตามช่องทางต่าง ๆ ดังนี้"
🚩Facebook: https://www.facebook.com/LibArit
🚩www : http://arit.pbru.ac.th
🚩Line Official : https://lin.ee/E5dxAa3
------------------------------------------------


© Copyright 2024 | สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

Site Map | Privacy Policy