รายละเอียด

2024-07-16 09:57:29 | 613

สำนักวิทยบริการฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ขอเชิญชวน นักเรียนนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ร่วมกิจกรรม ตอบคำถามชิงรางวัล เนื่องใน 29 กรกฎาคม ของทุกปี วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก (Global Tiger Day) 

ตอบคำถามชิงรางวัล >>คลิ๊ก<<

        เสือโคร่ง (Panthera tigris) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อยู่ในอันดับสัตว์กินเนื้อ (Carnivora) ในวงศ์ Felidae เสือโคร่งจัดเป็นเสือชนิดที่ใหญ่ที่สุด และเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทยอีกด้วย

        เสือโคร่งมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศคือ เป็นผู้ล่าอันดับสูงสุดของระบบนิเวศ และเป็นหนึ่งใน Keystone species ที่คอยควบคุมประชากรสัตว์กินพืช (Herbivore) ไม่ให้ประชากรของสัตว์กินพืชที่เป็นเหยื่อมีมากเกินไป รวมถึงสัตว์ผู้ล่าขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อรักษาสมดุลในระบบนิเวศป่า การมีอยู่ของเสือโคร่งจึงถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี และช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เสือโคร่งในผืนป่าของไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่นำเอาระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart patrol) เข้ามาใช้ โดยพบเสือโคร่งมากที่สุดในบริเวณผืนป่าตะวันตก ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง จึงเป็นแหล่งอนุรักษ์เสือโคร่งที่สำคัญของประเทศไทย ถ้ารวมผืนป่าตลอดแนวด้านตะวันตกของไทยเข้ากับป่าตามแนวชายแดนของพม่า จะทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย

        ดังนั้น วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลกตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเสือโคร่งในระบบนิเวศ และสร้างความตะหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรเสือโคร่งและถิ่นที่อยู่อาศัยของมัน แม้ว่าจะไม่มีตัวเลขยืนยันแน่ชัดในจำนวนของเสือโคร่ง แต่มีการประเมินว่าจำนวนเสือโคร่งลดลงถึงร้อยละ 95 ตั้งแต่เข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ซึ่งลดลงจาก 100,000 ตัว จนเหลือเพียง 3,200 ตัวเท่านั้น สายพันธุ์เสือที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากโลกนี้ตั้งแต่ยุคปี 1980 ได้แก่ เสือบาหลี, เสือชวา และเสือแคสเปียน โดยวันอนุรักษ์เสือโคร่งถูกกำหนดขึ้นจากการประชุมว่าด้วยเรื่องเสือโคร่ง (Tiger Summit) ในปี พ.ศ. 2553 ณ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย

        เสือโคร่ง (Panthera tigris (Linnaeus, 1758)) จัดเป็นสัตว์ป่าที่กำลังใกล้สูญพันธ์ุ เนื่องจากมีจำนวนประชากรในธรรมชาติที่ลดลงถึง 97% ภายในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าประชากรเสือโคร่งทั่วโลกเหลือเพียง 3,200 ตัวเท่านั้น สำหรับประชากรเสือโคร่งในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 200 - 250 ตัว พบมากที่สุดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รองลงมาคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติทับลาน  โดยประเทศที่มีการกระจายของเสือโคร่งได้กำหนดเป้าหมายในการร่วมกันอนุรักษ์และเพิ่มประชากรเสือโคร่งได้ให้เป็นสองเท่าของจำนวนประชากรในปัจจุบัน หรือ เป้าหมาย 'TX2' ภายในปี 2565 ส่วนของประเทศไทยขอเพิ่มแค่ 50% ของประชากรเสือที่มีอยู่ หรืออีกประมาณ 100 - 125 ตัว

        เราสามารถร่วมกันอนุรักษ์เสือโคร่งได้โดยการปกป้องผืนป่าที่เป็นบ้านหลังเดียวของเสือโคร่ง เพื่อให้สัตว์เหล่านี้ “ได้ไปต่อ” และดำรงอยู่คู่กับโลกตราบนานเท่านาน

ตอบคำถามชิงรางวัล >>คลิ๊ก<<

-----------------------------------------------
📣"เรียนเชิญติดตามข่าวสารจากสำนักฯ ตามช่องทางต่าง ๆ ดังนี้"
🚩Facebook: https://www.facebook.com/LibArit
🚩www : http://arit.pbru.ac.th
🚩Line Official : https://lin.ee/E5dxAa3
------------------------------------------------


© Copyright 2024 | สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

Site Map | Privacy Policy