๕ ธันวาคม วันชาติของไทย
วันชาติของไทย ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ความเป็นมาของวันชาติ
โดยทั่วไป มักจะตรงกับวันที่ประเทศนั้นๆ เฉลิมฉลองการได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราชหรือเป็น วันสถาปนประเทศ สถาปนารั ฐ สถาปนาราชวงศ์ วันพระราชสมภพ ของพระมหากษัตริย์ วันเกิดของประมุขรัฐ หรืออาจเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ดังนั้นวันชาติของแต่ละประเทศจึงขึ้นอยู่กับการกำหนดของประเทศนั้นๆ และมักจะถือเป็นวันหยุดประจำของชาติ หรือ วันหยุดราชการด้วย
วันชาติในบางประเทศมีมากกว่า ๑ วัน ได้แก่
ประเทศปากีสถาน มีวันชาติ ๒ วัน โดยจะนับ วันที่ ๒๓ มีนาคม เป็นวันที่ได้รับเอกราช หรือการปลดแอกจากการเป็นอาณานิคม เรียกว่า "Republic Day" และนับ วันที่ ๑๔ สิงหาคม เป็นวันสถาปนาการปกครองขึ้นใหม่ "Independence Day"
ประเทศฮังการี มีวันชาติถึง ๓ วัน (วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๐ สิงหาคม และ ๒๓ ตุลาคม)
ประเทศจีน นอกจากจะถือวันที่ ๑ ตุลาคม เป็นวันชาติ แล้วยังถือเอาวันที่อังกฤษคืนเกาะฮ่องกง อันเป็นเขตการปกครองพิเศษให้กับประเทศจีนในวันที่ ๑ กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันชาติที่ประเทศจีนจะจัดการเฉลิมฉลองเพิ่มขึ้นอีก ๑ วันด้วย
ประเทศไทยเคยมีการกำหนดให้วันที่ ๒๔ มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันชาติเนื่องจาก เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตย ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๑ โดย พลเอกพหลพล พยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการฉลองวันชาติครั้งแรกวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๒ ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และได้ถือปฏิบัติมาโดยตลอดเป็นระยะเวลาถึง ๒๑ ปี จนถึงสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้มีการทบทวนว่าไม่ควรใช้วันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติ เนื่องจากมีความไม่เหมาะสมหลายประการ มีการตั้งคณะกรรมการโดยมี พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาและเสนอความเห็นว่าประเทศที่มี ระบอบประชาธิปไตย และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติหลายประเทศ ถือเอาวันพระราชสมภพ ของพระมหากษัตริย์ เป็นวันฉลองของชาติ เช่นประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น เป็นต้น ดังนั้น เพื่อยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ และเป็นวันศูนย์รวมจิตใจ ความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นวันฉลอง "วันชาติ" ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นต้นมา
การจัดงานฉลอง
"วันชาติ" ของประเทศต่างๆจะมีรูปแบบแตกต่างกัน ได้แก่ การกล่าวสุนทรพจน์ การจัดขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง การจุดพลุดอกไม้ไฟ การแสดงมหรสพต่างๆ ส่วนประเทศไทยทั้งภาครัฐและ เอกชนมักจะจัดงานเฉลิมฉลองกันทั่วประเทศ เพราะเห็นว่าเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มากกว่าที่จะมีจุดประสงค์เพื่อฉลองวันชาติ เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยเป็นอาณานิคมของประเทศใดมาก่อน ดังนั้นการจัดกิจกรรมต่างๆจึง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนซาบซึ้ง เข้าใจ และถวายความจงรักภักดี ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเสียสละ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยอุตสาหะ เพื่อประโยชน์แก่ "ชาติ" ตลอดมาซึ่งก็จะทำให้ "วันชาติ" มีความหมายมากยิ่งขึ้น
ที่มา https://www.m-culture.go.th/mculture_th60/download/national%20day.pdf