ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม ณ จังหวัดราชบุรีเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2469
ต่อมาโรงเรียนได้ย้ายมาตั้งที่เขตพระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) ถนนราชวิถี อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร
หลังจากนั้นโรงเรียนได้ย้ายข้ามฟากมายังวัดเกตุ ถนนบริพัตร และในปี พ.ศ.2508 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรี
ต่อมาโรงเรียนได้ย้ายมาตั้ง ณ ถนนหาดเจ้าสำราญ หมู่ที่ 8 ตำบลนาวุ้ง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี และได้รับการประกาศยกฐานะเป็นวิทยาลัยครูเพชรบุรีเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 ในช่วงนั้นห้องสมุดได้เปิดให้บริการอยู่ชั้นล่างอาคารเรียน 1 เป็นห้องสมุดขนาด 3 ห้องเรียน
จนถึง พ.ศ. 2517 ห้องสมุดได้ย้ายเข้าไปอยู่อาคารใหม่ 2 ชั้น มีเนื้อที่ 1,813 ตารางเมตร เรียกชื่อว่า หอสมุดวิทยาลัยครูเพชรบุรี (อาคาร 6) ในปีงบประมาณ 2532 ได้รับงบประมาณ 3 ล้านบาทเศษเพื่อก่อสร้างอาคารหอสมุดอีก 1 หลัง เป็นอาคาร 2 ชั้นอยู่ด้านหน้าอาคารวิทยบริการ 1 กว้าง 16 เมตร ยาว 21 เมตร เนื้อที่ 672 ตารางเมตร
ต่อมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวิทยาลัยครูว่า “สถาบันราชภัฏ”
และในปีงบประมาณ 2539 สถาบันได้รับจัดสรรงบประมาณก่อสร้างอาคารสำนักวิทยบริการ 6 ชั้น มีเนื้อที่ 4,973 ตารางเมตร และได้รับประทานนาม”อาคารบรรณราชนครินทร์” จากสมเด็จพระนางเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2545 รวมเนื้อที่สำนักวิทยบริการฯ ซี่งประกอบด้วยอาคาร 3 หลังทั้งหมด 7,458 ตารางเมตร
และเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาลงพระปรมาภิไธยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ ยังส่งผลให้สถาบันได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และสำนักฯมีฐานะเทียบเท่าคณะ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2548 ตามกฎกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี (ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่122 ตอนที่ 20ก หน้าที่39)
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักฯ ได้พัฒนาจากการเป็นห้องสมุดขนาดเล็กไปสู่การเป็นห้องสมุดขนาดกลาง จากการดำเนินงานที่ใช้ระบบมือ (Manual System) ไปสู่การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยปฏิบัติงานและระบบห้องสมุดอัติโนมัติ (Automated System) เพื่อให้มีความทันสมัย รวดเร็วในการให้บริการ
นอกจากนี้ยังได้นำระบบการบริหารงานคุณภาพ ISO 9001:2000 เข้ามาใช้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2545 และได้รับการรับรองตามมาตรฐานเลขที่ มอก. ISO 9001:2000 QMS03137/741 สำหรับขอบข่าย : การจัดการและการให้บริการงานห้องสมุด เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2546
ปัจจุบันสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศทำหน้าที่เป็นหอสมุดกลาง เพื่อจัดหา วิเคราะห์ จัดเก็บ บริการและเผยแพร่สารสนเทศ รวมทั้งบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแก่นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และสำนักวิทยบริการฯ ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของอาคารตามลำดับ ดังนี้
ปี 2556-2558 ได้รับการจัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในการปรับปรุงพื้นที่บริการชั้น 6 อาคารบรรณราชนครินทร์
ปี 2557-2558 ได้รับการจัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในการปรับปรุงพื้นที่อาคารหอสมุดเดิมบางส่วน ให้เป็นพื้นที่ร้านเครื่องดื่มและอาหารว่าง (Think Cafe@ Library) เพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ตามอัธยาศัย ในงบประมาณ 2.9 ล้านบาท
ปี 2559 ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ในการปรับปรุงและต่อเติมส่วนหน้าของอาคารบรรณราชนครินทร์ ชั้น 1 และห้องน้ำทุกชั้น ในงบประมาณ 12.9 ล้านบาท
ปี 2561 ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน ในการปรับปรุงอาคารหอสมุดเดิมเป็น “ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาราชภัฏเพชรบุรีและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น” ในงบประมาณ 24.9 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.สำนักงานผู้อำนวยการ
2.ห้องเกียรติภูมิปัญญามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
3.ห้องต้นหว้า
4.ห้องสารสนเทศท้องถิ่นและหนังสือหายาก
5.ห้องควบคุมไฟฟ้าและส่วนการปฏิบัติงานของบุคลากร
6.ห้องเรียนรู้ร่วมกัน
7.ห้องรอยเสด็จฯเพชรบุรี
8.ห้องเฉลิมพระเกียรติ
9.ห้องอันเนื่องมาจากพระราชดำริ @เพชรบุรี
ปัจจุบันสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศมีพื้นที่การปฏิบัติงานและให้บริการ (กลุ่มอาคาร 6) ประกอบด้วย อาคาร 2 ชั้น (อาคารหอสมุดเดิม) และอาคาร 6 ชั้น (อาคารบรรณราชนครินทร์)